2024-06-18 09:13:15
จำนวนครั้งที่อ่าน : 26
Stevens-Johnson Syndrome (กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน) คือความผิดปกติของผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวชนิดรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือการตอบสนองของร่างกายต่อยาบางชนิด ในระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตามมาด้วยผื่นแดงที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด จากนั้นผื่นจะค่อย ๆ ลุกลามและกลายเป็นแผลพุพองในที่สุด
ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีไข้และหนาวสั่น ร่วมกับมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดตามร่างกาย แสบตา หรือรู้สึกอ่อนเพลีย จากนั้นภายใน 2-3 วันหรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ความผิดปกติทางผิวหนังจึงเริ่มปรากฏ สังเกตได้ดังนี้
รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
เกิดผื่นแดงที่ตรงกลางมีสีเข้มและรอบข้างมีสีจาง จากนั้นผื่นจะค่อย ๆ ลุกลามและเพิ่มจำนวนขึ้น
เกิดแผลพุพองตามผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวบริเวณริมฝีปาก ช่องปาก จมูก ตา และอวัยวะเพศ
ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอก เผยให้เห็นผิวด้านในที่มีลักษณะคล้ายผิวไหม้
Stevens Johnson Syndrome
Stevens Johnson Syndrome
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของ Stevens Johnson Syndrome อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าการติดเชื้อและการใช้ยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้
การใช้ยา ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติทันทีหลังจากใช้ยาหรือหลังหยุดใช้ยาไปแล้วนาน 2 สัปดาห์ ประเภทยาที่อาจก่อให้เกิด Stevens Johnson Syndrome ได้แก่
ยาต้านการติดเชื้อ เช่น เพนิซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล
ยาระงับอาการปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน
ยากันชักหรือยารักษาอาการป่วยทางจิต เช่น ฟีโนบาร์บิทัล เฟนิโทอิน เซอร์ทราลีน คาร์บามาซีปีน และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากอยู่ในระหว่างเข้ารับการรักษาโรคด้วยวิธีฉายรังสี
ยารักษาโรคเกาต์ เช่น อัลโลพูรินอล เป็นต้น
การติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ ปอดบวม เริม งูสวัด หรือเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นเสี่ยงต่อการเกิด Stevens Johnson Syndrome มากกว่าคนทั่วไปถึง 100 เท่า
นอกจากสาเหตุข้างต้น ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Stevens Johnson Syndrome ได้แก่
ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การทำเคมีบำบัด ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็น Stevens Johnson Syndrome หรือ โรค Toxic Epidermal Necrolysis ซึ่งเป็นความผิดปกติทางผิวหนังที่มีอาการคล้ายกับโรคนี้ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า
มีประวัติเป็น Stevens Johnson Syndrome มาก่อน ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคนี้จากการใช้ยามาก่อน หากจำเป็นต้องรับประทานยาในกลุ่มใกล้เคียง อาจส่งผลให้อาการป่วยกลับมาเกิดซ้ำได้
ยีน HLA-B 1502 เป็นยีนที่มักพบในคนจีน คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนอินเดีย ผู้ที่มียีนชนิดนี้อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากรับประทานยากันชัก ยารักษาอาการป่วยทางจิต หรือยารักษาโรคเกาต์
Stevens Johnson Syndrome
การวินิจฉัย Stevens Johnson Syndrome จะทำโดยแพทย์ผิวหนัง โดยเริ่มจากตรวจดูอาการ ตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามประวัติทางการแพทย์ รวมถึงประวัติการใช้ยา จากนั้นอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือด การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เป็นต้น
Stevens Johnson Syndrome เป็นความผิดปกติทางผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวที่รุนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน หากผลวินิจฉัยพบว่าอาการป่วยเกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อยา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุและกลุ่มยาใกล้เคียงทันที หรืออาจให้หยุดใช้ยาทุกชนิดที่ไม่จำเป็นต่อผู้ป่วยมากนัก หลังจากนั้นจะรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการ โดยอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้
ประคบเย็นเพื่อช่วยให้ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดออกง่ายขึ้น จากนั้นจึงใช้ผ้าพันแผลปลอดเชื้อพันรอบผิวหนังบริเวณที่มีอาการ
ให้น้ำและสารอาหารผ่านทางจมูก ช่องท้อง หรือหลอดเลือด เนื่องจากการสูญเสียผิวหนังส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและสารอาหารมากกว่าปกติ
ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นหรือมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ทาผิวเป็นประจำ
ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาชาหรือยาฆ่าเชื้อ เพื่อช่วยให้กลืนอาหารได้ง่ายขึ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติบริเวณดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตา
ใช้ยาแก้ปวดชนิดรุนแรงเพื่อบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย
ให้ยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ให้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อควบคุมอาการอักเสบของผิวหนัง
หลังจากรับการรักษาดังข้างต้น ร่างกายของผู้ป่วยจะค่อย ๆ สร้างผิวหนังใหม่ทดแทนผิวหนังที่เกิดความผิดปกติ ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ บางรายอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
Stevens Johnson Syndrome
นอกจาก Stevens Johnson Syndrome จะทำให้ผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวตามร่างกายเกิดความผิดปกติ ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ดังนี้
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นภาวะที่อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อแพร่เข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการช็อกและอวัยวะภายในล้มเหลว
ผิวหนังถูกทำลายถาวร ผิวหนังที่งอกขึ้นมาใหม่อาจมีสีต่างไปจากเดิม มีตุ่มตามผิวหนัง เกิดแผลเป็น และในระยะยาวอาจส่งผลให้ขนร่วง เล็บมือและเล็บเท้างอกผิดปกติ
อวัยวะภายในอักเสบ เช่น ปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไตอักเสบ หลอดอาหารอักเสบ และอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบตามมา
ตาอักเสบ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจรู้สึกระคายเคืองตา ตาแห้ง แต่ในกรณีที่เนื้อเยื่อตาเสียหายมากอาจกระทบต่อการมองเห็นและตาบอดได้
ปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ภาวะช่องคลอดตีบตันจากเนื้อเยื่อแผลเป็น การเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นบริเวณองคชาติ เป็นต้น
ปอดทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
Stevens Johnson Syndrome ป้องกันได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละคนตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจพบยีน HLA-B 1502 แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหายีนดังกล่าวก่อนรับประทานยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ เช่น ยาคาร์บามาซีปีน ยาอัลโลพูรินอล ส่วนผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนควรงดรับประทานยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติและปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานยาชนิดอื่น รวมทั้งสวมกำไลข้อมือสำหรับผู้แพ้ยาเสมอ ทั้งนี้ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิด Stevens Johnson Syndrome คนในครอบครัวของผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นต้นเหตุของอาการผิดปกติเช่นกัน
ตรีชฎา-คลินิก คลินิกรักษาสิว จังหวัดอุบลราชธานี รักษาสิว ทุกชนิด สิวอุดตัน สิวอักเสบ สิวฮอร์โมน สิวสเตียรอยด์ แพ้ครีม แพ้เครื่องสำอาง ทรีทเม้นท์ ไอพีแอล เลเซอร์ คิดถึงเรา โทร 061-550-9396 LINE ID: @629inyrd
Share to Social Networks
บริการเว็บไซต์โดย 8columns.com